Latest News

เชียงใหม่ - ปภ. เตรียมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการจัดการภัยพิบัติเอเปค

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการจัดการภัยพิบัติเอเปค เพื่อแสดงศักยภาพด้านการรับมือภัยพิบัติในประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน และการวางแผนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

          นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ได้เลือกให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในพื้นที่จัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 16-31 สิงหาคม 2565 โดยในวันที่ 20 สิงหาคม 2565 จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการจัดการภัยพิบัติเอเปค ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงศักยภาพด้านการรับมือภัยพิบัติในประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน และการวางแผนลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุล

          สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนผลความสำเร็จในการจัดการภัยพิบัติของสมาชิกเอเปค , การเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในเอเปค และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุล โดยรัฐบาลไทย ได้ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแผนการรับมือ และบรรเทาสาธารณภัยในระดับประเทศและระดับชุมชน แบ่งมาตรการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนเกิดเหตุ เป็นการจัดทำแผนการรับมือภัยพิบัติ การพัฒนาระบบพยากรณ์และการแจ้งเตือนภัยพิบัติ การพัฒนาระบบสื่อสารรวมถึงการเตรียมปัจจัย 4 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย , ระยะระหว่างเกิด คือการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ พร้อมสนธิกำลังเข้าช่วยเหลือและควบคุมสถานการณ์ และระยะหลังเกิด คือ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย อีกทั้งยังส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการรับมือภัยพิบัติในอาเซียน เช่น คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน ภายใต้โครงการ DELSA ที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 16 ชัยนาท

          นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยได้มุ่งผลักดันและเน้นย้ำประเด็น “การส่งเสริมการลดความเสี่ยงและการส่งเสริมความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อการฟื้นฟูภายหลังโควิด-19” เพื่อร่วมขับเคลื่อนหัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ทั้งยังผลักดันความร่วมมือในการขับเคลื่อนกรอบเซนไดในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การสร้างเมืองและสาธารณูปโภคที่ปลอดภัย โดยสามารถรับมือและฟื้นตัวกลับจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความรุนแรงของภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

ข้อมูลจาก : สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์
กาณฑ์ โสภโณดร : บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวลานนาเพรส
จุฬา สินไพบูลย์ สำนักข่าวลานนาเพรส : รายงาน



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 20 สิงหาคม 2565
เวลา :: 01:31:20

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวทั่วไป ]