เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 เวลา 17.00 น. ที่ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ชายทะเลบางพระ เทศบาลตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายธวัชชัยศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธานในพิธีบวงสรวงองค์พญายม ในงานประเพณีแห่ “องค์พญายม” บางพระหนึ่งเดียวในโลกและวันไหลบางพระ ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลบางพระเป็นประจำทุกปีพร้อมด้วยนางปณิดา พันธุ์โชติ นายอำเภอศรีราชา และผู้นำชุมชน และชาวชุมชนในเขตเทศบาลตำบลบางพระร่วมขบวนแห่องค์พญายม จากศูนย์เยาวชนบางพระไปรอบตลาดบางพระ ไปสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ชายทะเลบางพระ เพื่อจัดพิธีบวงสรวงองค์พญายมซึ่งในปีนี้หุ่นพญายมเป็นภาคเทวดา มือขวาถือบ่วงล่าวิญญาณ มือซ้ายถือไม้เท้าหัวกะโหลก โดยชาวชุมชนได้ร่วมบวงสรวงกราบไหว้ขอพรให้ชีวิตมีความสุขตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา
โดยพิธีบวงสรวงเริ่มขึ้นเวลาประมาณ 17.00 น. มีการนิมนต์พระมาร่วมพิธีทางพุทธ และเชิญพราหมณ์มาทำพิธีบวงสรวง พร้อมอาหารเครื่องเซ่นไหว้วางถวายเต็มโต๊ะริมทะเล สำหรับประเพณีแห่พญายม สงกรานต์บางพระนั้น เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นแห่งเดียวในโลก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นสู่สากล ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบางพระ ว่าสามารถสะเดาะเคราะห์และปล่อยสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งการแห่องค์พญายมในวันสงกรานต์นั้น เป็นความเชื่อของชาวบางพระตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เดิมนั้นตำบลบางพระ เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่เลียบชายฝั่งทะเล ที่มีชาวบ้านยืดอาชีพทำการประมงเป็นหลัก อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค อหิวาตกโรค ที่ทำให้ชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงต้องล้มป่วยและตายไปเป็นจำนวนมาก และไม่มีทางที่จะแก้ไขได้เลย จนอยู่มาวันหนึ่งได้มีชาวบ้านเกิดนิมิตว่าการที่จะลบล้างให้ชาวบ้านตำบลบางพระ ได้พ้นภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ ก็คือ การสร้างองค์พญายมผู้เป็นใหญ่ขึ้นมาเพื่อทำการสะเดาะเคราะห์ พร้อมทั้งนำเครื่องบวงสรวงมาเซ่นไหว้แล้วแห่นำไปทั่วหมู่บ้าน โดยให้ชาวบ้านทุกคน มารวมตัวกันที่บริเวณกลางลานหมู่บ้าน เพื่อเป็นการทำพิธีขอขมาลาโทษต่อองค์พญายมผู้เป็นใหญ่และทำการปล่อยองค์พญายม ออกสู่ทะเล