เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ประกอบพิธีไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ และศาลปู่ย่า สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นร่วมพิธีทำบุญทางพุทธศาสนา เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ครบรอบ 33 ปี 8 เมษายน 2568 โดยมีนายกฤษณ์ กระแสเวส รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กล่าวต้อนรับ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงาน ภายในงานประกอบด้วย พิธีทำบุญทางพุทธศาสนา นิทรรศการความภาคภูมิใจ 33 ปีแห่งการสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์ กาดมั่วคัวฮอม และพิธีมอบรางวัลบุคลากรดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2568 โดยองค์การสวนพฤกษศาสตร์ มีโครงการคัดเลือกบุคลากรดีเด่นประจำปี 2568 แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “คนดีศรี อ.ส.พ." “คนดีรักองค์กร” และ “คนดีศรีขยัน โดยได้รับเกียรติจากท่านผู้ตรวจราชการ ทส. เป็นผู้มอบใบประกาศเกียรติคุณ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรที่ประพฤติปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ เสียสละอดทน และมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อส่งเสริมคุณธรรม จรรยาบรรณ และจริยธรรม นำไปสู่องค์กรคุณธรรม จากนั้น ท่านผู้ตรวจราชการ ทส. พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากร อ.ส.พ. ได้ร่วมกันสักการะรูปปั้น ศ.ดร.สง่า สรรพศรี ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
วันที่ 8 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) องค์กรของประเทศที่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการด้านสวนพฤกษศาสตร์ เป็นสถาบันทางวิชาการด้านพืชที่รวบรวมพันธุ์พืชอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัย อนุรักษ์ จัดแสดง เผยแพร่ความรู้ด้านพืช และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชน รวมทั้งปลูกฝังกล่อมเกลาจิตใจให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งถือได้ว่าสวนพฤกษศาสตร์ เป็นดัชนีชี้วัดความเจริญของประเทศ
ตลอดระยะเวลา 33 ปี อ.ส.พ. ได้อนุรักษ์พันธุ์พืชนอกถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (Ex situ conservation) เพื่อนำมาจัดปลูกตามหลักวิชาการในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์สาขาในสังกัดของ อ.ส.พ. ทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ สวนพฤกษศาสตร์ บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก สวนพฤกษศาสตร์ระยอง จังหวัดระยอง สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น สวนพฤกษศาสตร์พระแม่ย่า จังหวัดสุโขทัย สวนพฤกษศาสตร์พังงา จังหวัดพังงา และสวนพฤกษศาสตร์สุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งสิ้น 220 วงศ์ 1,337 สกุล 4,354 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพืชหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของประเทศ 658 ชนิด พืชวงศ์กล้วยไม้ 686 ชนิด พืชวงศ์ขิงข่า 330 ชนิด และพืชสมุนไพร 771 ชนิด พร้อมทั้งอนุรักษ์พันธุ์พืชในสภาพปลอดเชื้อ (In vitro conservation) จำนวน 580 ชนิด แบ่งเป็น พืชวงศ์กล้วยไม้ 314 ชนิด โดยเป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 86 ชนิด พืชวงศ์ขิงข่า 98 ชนิด ซึ่งเป็นชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ 22 ชนิด และพืชในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย (Thailand Red Data List) 168 ชนิด และจากการศึกษาวิจัย เพาะขยายพันธุ์พืชวงศ์กล้วยไม้ พืชวงศ์ขิงข่า และพืชหายาก พืชเสี่ยงสูญพันธุ์ กว่า 115 ชนิด อ.ส.พ.ได้จัดกิจกรรมคืนถิ่นฟื้นฟูประชากรของพันธุ์ไม้ที่ถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ เพื่อคืนความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ จำนวน 87 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพืชที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ 35 ชนิด โดยร่วมกับเครือข่ายชุมชน 13 ชุมชน และหน่วยงานเครือข่าย 14 หน่วยงาน ในพื้นที่ใกล้เคียงสวนพฤกษศาสตร์สาขาในสังกัดของ อ.ส.พ. รวมจำนวน 30 พื้นที่ โดยมีอัตราการอยู่รอด คิดเป็นร้อยละ 89.5
ภายใต้พันธกิจด้านการศึกษาวิจัยด้านอนุกรมวิธานและการเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างอ้างอิงด้านพืชและแมลงที่สำคัญของประเทศ อ.ส.พ.ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยและรวบรวมข้อมูลทางด้านพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อภาวะวิกฤตของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ พันธุ์พืช ศึกษาค้นคว้า วิจัย และเป็นศูนย์รวมตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้ง ข้อมูล สิ่งพิมพ์เผยแพร่ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะด้านพืชและแมลงของประเทศ โดยหอพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (QBG) ได้รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง สำหรับเป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษาวิจัย จำนวน 147,329 หมายเลข จัดจำแนกเป็น 15,039 ชนิด 333 วงศ์ 3,022 สกุล ซึ่งมีจำนวนมากเป็นลำดับ 2 ของประเทศ โดยเป็นตัวอย่างพรรณไม้ไทย 10,301 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 93.64 ของพรรณไม้ทั้งหมดในประเทศ พร้อมทั้งรวบรวมตัวอย่างแมลง ณ พิพิธภัณฑ์แมลง อ.ส.พ. รวมทั้งสิ้น 174,092 หมายเลข จัดจำแนกเป็น 2,059 ชนิด 238 วงศ์ 219 สกุล นับเป็นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์ของแมลงมากที่สุดในประเทศไทย และจากการศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นักวิจัยอ.ส.พ.ได้เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยในวารสารและในหนังสือวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 361 บทความ โดยนักอนุกรมวิธานได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก 89 ชนิด อาทิ กล้วยไม้สิงโตร่มเกล้า กระเจียวอุบล กระเจียวศิริรักษ์ โสกเหลืองแม่เมย กระเจียวอรุณ ช่อม่วงพิทักษ์ กระเจียวลำปาง กระเจียวสรรพศรี กระเจียวสุพรรณ กะพ้อเขาจันทร์ ประทัดสุเทพ ก้ามกุ้งภูวัว กระเจียวงาม ก้านดำใบงาม ก้านดำทองแถม เปราะภูแม่ฮ่องสอน และชมพูสิริน และนักกีฏวิทยา ยังได้ค้นพบแมลงริ้นดำ (Black Fly) ชนิดใหม่ จำนวน 70 ชนิด จาก 5 สกุลย่อย ของสกุล Simulium โดยอ.ส.พ. ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดใหม่โลก จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ เอื้องศรีเชียงดาว เอื้องศรีอาคะเนย์ เอื้องศรีประจิม ราชรัตน์ ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธรชมพูสิริน เทียนพระบารมี และแมลงชนิดใหม่ของโลก 1 ชนิด คือ แมลงช้างกรามโตเทพรัตน์
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพพืชพื้นเมืองของไทย อาทิ พืชสกุลมหาหงส์ มะเดื่อหว้า ซ้อ อูนป่า ตะไคร้ต้น คำมอกหลวง และดาหลา นำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยมีการจดอนุสิทธิบัตร 9 อนุสิทธิบัตร และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดจำหน่ายในร้านขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของ อ.ส.พ. (BotaniGar shop) 30 ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพกล้วยไม้พื้นเมืองของไทย นำมาผสมเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษ สวยงาม และมีกลิ่นหอม ได้รับการยอมรับในระดับสากลจาก The Royal Horticultural Society (RHS) สหราชอาณาจักร ในการจดทะเบียนกล้วยไม้ลูกผสม สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 7 สายพันธุ์
ในปี 2565 สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ.ส.พ. ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับที่ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ในการเป็นสวนพฤกษศาสตร์หรือสวนรุกขชาติที่มีมาตรฐาน และดำเนินงานระดับมืออาชีพอย่างแท้จริงจาก The ArbNet Arboretum Accreditation Program และได้รับการรับรองมาตรฐานสวนพฤกษศาสตร์สากล BGCI ระดับที่ 1 BGCI Botanic Garden Accreditation เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565 และวันที่ 16 มกราคม 2566 ได้รับการรับรองมาตรฐาน BGCI ระดับที่ 2 BGCI Conservation Practitioner Accreditation (CPA) จาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) โดยเป็น 1 ใน 20 สวนพฤกษศาสตร์จากทั่วโลกที่ได้การรับรองมาตรฐาน ซึ่งเป็นแห่งเดียวในทวีปเอเชีย สร้างความภาคภูมิใจของประเทศไทยและสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ทุกคน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนองค์การสวนพฤกษศาสตร์ อันเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ ปกป้องทรัพยากรพรรณพืชและความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่อย่างยั่งยืน