Latest News

กันยายนนี้ ! ลุ้นชมดาวหางนิชิมูระ

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยช่วงวันที่ 8 ถึง 17 กันยายน 2566 มีโอกาสเห็นดาวหาง “นิชิมูระ” (C/2023 P1) (ซีสองศูนย์สองสาม พีหนึ่ง) อาจสังเกตได้ชัดเจนเนื่องจากอยู่ใกล้โลกและสว่างมาก หากฟ้าใสไร้เมฆฝน ในพื้นที่มืดสนิทมีลุ้นดูได้ด้วยตาเปล่า

          นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ขณะนี้ดาวหาง “C/2023 P1 (Nishimura)” หรือ "ดาวหางนิชิมูระ” กำลังจะโครจรเฉียดโลก ในวันที่ 12 กันยายน 2566 และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดวันที่ 17 กันยายน 2566 ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่สว่างที่สุด และยังมีมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่มากพอจนอาจสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงหัวค่ำ 

          “ดาวหางนิชิมูระ” ถูกค้นพบครั้งแรกโดยฮิเดโอะ นิชิมูระ (Hideo Nishimura) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ถ่ายภาพท้องฟ้าในช่วงรุ่งเช้า พบว่ามีวัตถุท้องฟ้าบางอย่างที่ไม่สามารถระบุได้บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ปรากฏในภาพ และเมื่อตรวจสอบภาพถ่ายในวันก่อนหน้า ก็พบวัตถุเดียวกันนี้ แต่มีตำแหน่งปรากฏเปลี่ยนไปเล็กน้อย จึงคาดว่าน่าจะเป็นดาวหางดวงใหม่ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน

          ดาวหางดวงนี้ได้รับการยืนยันการค้นพบ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/2023 P1 (Nishimura) จัดเป็นดาวหางคาบยาว มีแหล่งที่มาจากเมฆออร์ต (Oort Cloud) มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 437 ปี ขณะนี้กำลังโคจรเข้าใกล้โลกและดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 17 กันยายน 2566

          สำหรับช่วงเวลาสังเกตการณ์ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏในช่วงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออก อยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต (Leo) ใกล้กับดาวเรกูลัส (Regulus) ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 20 องศา มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ค่าความสว่างปรากฏ 5.2 (ค่าความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ลงไป ยิ่งเลขน้อยยิ่งสว่าง) 

          ในวันที่ 12 กันยายน 2566 ดาวหางจะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ระยะห่าง 125 ล้านกิโลเมตร แต่เป็นช่วงที่ดาวหางมีตำแหน่งปรากฏบนท้องฟ้าใกล้กับดวงอาทิตย์มาก จึงยากต่อการสังเกตการณ์ จนกระทั่งหลังวันที่ 15 กันยายน 2566 ดาวหางจะเปลี่ยนตำแหน่งมาปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ มีมุมปรากฏบนท้องฟ้าห่างออกจากดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มเคลื่อนตำแหน่งออกจากกลุ่มดาวสิงโต (Leo) 

          วันที่ 17 กันยายน 2566 จะเป็นวันที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ระยะห่าง 34 ล้านกิโลเมตร (ใกล้กว่าวงโคจรของดาวพุธประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์) มีความสว่างมากขึ้น อาจมีค่าความสว่างปรากฏมากถึง 3.0 อยู่บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ทางทิศตะวันตกช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นมุมประมาณ 10 องศา มีเวลาสังเกตเกือบ 1 ชั่วโมงก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์  

          หลังจากนี้ดาวหางจะค่อย ๆ โคจรออกห่างจากดวงอาทิตย์ และมีความสว่างลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้อีก และจะโคจรกลับเข้ามาเฉียดโลกและดวงอาทิตย์อีกครั้งในอีกกว่า 400 ปีข้างหน้า

 



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 08 กันยายน 2566
เวลา :: 05:36:33

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวทั่วไป ]