องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือน กรกฎาคม 2565 ด้านสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง รายงานปีงบประมาณ 2565 ได้มีการขับเคลื่อนวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3,432 แปลง พัฒนามาตรฐานคุณภาพผลผลิตของเกษตรกร
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 65 เวลา 09.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวง เข้าร่วมประชุมฯ
ในที่ประชุม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หนึ่งในหน่วยงานสนับสนุนและขยายผลความสำเร็จของโครงการหลวงไปยังพื้นที่สูงอื่นทั้งในและต่างประเทศ ได้รายงานแผนสนับสนุนโครงการหลวงในปีงบประมาณ 2565 โดยร่วมขับเคลื่อนการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 9 กลุ่มบ้าน 3,432 แปลง เกษตรกร 1,645 ราย พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ร่วมพัฒนาชุมชนโครงการหลวงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านชุมชนคาร์บอนต่ำบนพื้นที่สูง ส่งเสริมการรวมกลุ่มและยกระดับมาตรฐานกลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มสหกรณ์ จำนวน 68 กลุ่ม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบกระจายน้ำ สร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่โครงการหลวง โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ จำนวน 364 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 1,122.46 ไร่
นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ในการอบรมหมอดินอาสาประจำตำบลหมู่บ้าน และการสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน ในโครงการพัฒนาต่อยอดกลุ่มเดิมที่เข้มแข็งจำนวน 10 กลุ่ม ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 8 แห่ง คิดเป็นผลการดำเนินงานร้อยละ 72.19 การจัดทำโครงการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อผลิตปุ๋ยหมัก และผลิตปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งยังมีการสนับสนุนการปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ตามแนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีเป้าหมายการปลูก จำนวน 3,800,000 กล้า
ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานร่วมบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ได้สนับสนุนการจัดอบรมการพัฒนาคุณภาพผลผลิต ได้แก่ การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์และผลิตเส้นใยกัญชง หรือ เฮมพ์ และการเปลี่ยนยอดอาโวคาโด รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางเลือกด้านหัตถกรรมแก่กลุ่มสตรี ในหลักสูตรการแปรรูปและสร้างแบบเสื้อผ้าสมัยนิยมจากผ้าทอชนเผ่า พัฒนากลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพเข้าสู่กระบวนการ OTOP และขับเคลื่อนให้กลุ่มอาชีพจดทะเบียนรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อการเข้าถึงแหล่งทุนในการพัฒนาที่เพิ่มขึ้น
กาณฑ์ โสภโณดร : บรรณาธิการข่าว
จุฬา สินไพบูลย์ : รายงาน