Latest News

ช็อค!!! คนไทยใช้เงินเกินตัว ก่อหนี้เสียไม่หยุดพุ่ง 1.05 ล้านล้านบาท หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์พุ่งแรง 20.9% ไม่มีทีท่าจะหยุด..ดันหนี้ครัวเรือนไทยเกือบเท่าขนาดเศรษฐกิจประเทศแล้ว!!!

          นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิต บูโร) เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลของเครดิต บูโร ณ สิ้นสุดไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดสินเชื่อของสมาชิกเครดิตบูโรในระดับ 13.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ระดับ 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 1.03 ล้านล้านบาท

          โดยแบ่งเป็นส่วนของ NPL ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้่นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนดังนี้

     NPL สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 20.9%น ที่ 2.07 แสนล้านบาท

     NPL สินเชื่อบ้าน 1.81 แสนล้านบาท ลดลง 1.7%

     NPL สินเชื่อบัตรเครดิต 5.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.6%

     NPL สินเชื่อบุคคล 2.61 แสนล้านบาท ลดลง 0.8%

          ส่วนสินเชื่อค้างชะรำ 1-3 เดือน (SM) อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.05 แสนล้านบาท หรือ 21.4% โดยแบ่งเป็น

     สินเชื่อบ้าน 1.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.2%

     สินเชื่อรถ 2.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.5%

     สินเชื่อเครดิตการ์ด 9.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5%

     สินเชื่อบุคคล 8.6 หมื่นล้านบาท 17.7%

          เมื่อรวม NPL และ SM แล้วจะอยู่ที่ระดับ 1.55 ล้านล้านบาท โดยอัตราการไหลกลับจาก SM กลับไปเป็นหนี้ NPL หรือ Migration rate ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยเปิดเผยนั้น Migration rate สินเชื่อบ้านอยู่ที่ 22% สินเชื่อรถ 12% สินเชื่อบุคคล 54% และสินเชื่อบัตรเครดิต 57%

          จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าหนี้ที่น่าเป็นห่วง คือ หนี้รถยนต์ที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของ NPL และ SM ขณะที่การปรับโครงสร้างหนี้ของสินเชื่อรถยนต์เป็นที่เรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากอายุการใช้งานจำกัด ประมาณ 10 ปี ซึ่งหากมีการยืดหนี้ออกไปจะทำให้ไม่คุ้มกับค่าเสื่อมของอายุการใช้งานรถยนต์ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราที่ต่ำ รายได้ยังไม่เพิ่ม ประกอบกับราคาน้ำมันที่ยังสูง แนวโน้มหนี้เสียของกลุ่มสินเชื่อรถยนต์จึงน่าจะเพิ่มขึ้น

         ขณะที่ SM ของสินเชื่อบ้านที่สูงขึ้นนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าเป็นสินเชื่อของกลุ่มคนรายได้ปานกลางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่เชื่อว่าแนวโน้ม NPL ในระยะต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีก

          นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกหนี้สถานะบัญชี 21 หรือบัญชีหนี้เสียจากโควิด-19 ซึ่งจะหมดมาตรการผ่อนปรนของ ธปท. ในสิ้นปีนี้

          อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2566 มีจำนวน 5.1 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจาก 2.3 ล้านบัญชีในช่วงต้นปี คิดเป็นจำนวนเงิน 3.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่อยู่ในระดับ 2 แสนล้านบาท

          โดยหนี้กลุ่มที่เพิ่มสูงสุดเป็นหนี้รถเพิ่มขึ้น 39.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหนี้สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 9.1% และสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น 11.3%

          หนี้ครัวเรือนพุ่ง 16.5 ล้านล้าน เกือบเท่า GDP ประเทศ

          วินัยทางการเงินของคนไทยยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม ที่นับวันมีแต่จะพุ่งขึ้นตลอดไม่ลดลง ซึ่งหนี้ครัวเรือนนั้นเกิดจากการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่มากจากการซื้อสินค้าและรับบริการ รวมทั้งการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนของมันต้องมี และหนี้ที่เกิดจาการใช้เงินในอนาคตจากบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่สามารถชำระหนี้เหล่านี้ได้ทั้งหมด

          ความน่ากังวลคือ หนี้ครัวเรือนของไทยยังคงสูงมากมาหลายปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะขยับขึ้นไปที่ระหว่าง 16.4-16.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90-91% ต่อจีดีพี ซึ่งมากกว่าช่วงสิ้นปี 2565 ที่ 15.9 ล้านล้านบาท

          เท่ากับว่าประชากรไทยทุกคนรวมกันแล้วมีหนี้สินส่วนบุคคลที่มูลค่ารวมกันเกือบเท่ากับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ราว 18 ล้านล้านบาท ที่นับว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 30 ของโลก (ปี 2021 ไทยเคยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 28 ของโลก) และเป็นตลาดที่มีกำลังซื้ออันดับที่ 24 ของโลก

          สิ่งที่ต้องจับตาเลยคือ อำนาจการซื้อและขนาดเศรษฐกิจของคนไทยจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะถดถอยไปอีก เนื่องจากคนไทบหนี้สินท่วมหัวจนไม่เหลือเงินมาบริโภคต่อ

          อีกประเด็นที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ มูลหนี้กว่า 16.5 ล้านล้านบาทนั้น มีหนี้นอกระบบรวมอยู่ด้วยราว 50,000 ล้านบาท ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ซับซ้อนในด้านสังคม คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน เพราะโดยทั่วไป ลูกหนี้ที่มีการกู้ยืมจากแหล่งเงินนอกระบบนั้น มักจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 15% ที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และอาจต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงจากการทวงหนี้ของเจ้าหนี้

          ดังนั้น หากมองจากมุมของลูกหนี้แล้ว การกู้ยืมนอกระบบน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการหมุนสภาพคล่อง หลังจากที่ลูกหนี้ได้พยายามใช้วิธีอื่นๆ มาแล้ว

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ก็คือ การทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่ง “มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ของธปท. ในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีการเตรียมหลักเกณฑ์ Risk-based pricing สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกันเพื่อช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้นอกระบบด้วยเช่นกัน

          ขณะที่ประเด็นสำคัญของแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ จะอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบสถานะของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมไปถึงการจูงใจให้เจ้าหนี้มาร่วมแก้ปัญหาให้กับลูกหนี้

          แต่สิ่งที่ทำให้ปัญหาการแก้ไขปัญหาหนี้สินยังไม่ประสบความสำเร็จและระดับหนี้ครัวเรือนในระบบปรับเพิ่มขึ้น ก็คงต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นตอของปัญหาในระดับครัวเรือน โดยเฉพาะวินัยทางการเงิน สังคมไทยคือสังคมของการบริโภค พฤติกรรมการใช้เงินเกินตัวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หนี้สินไม่สามารถหมดไปได้ ผู้คนในวัยทำงานส่วนใหญ่มากกว่า 58% เป็นหนี้บัตรเครดิตหลายใบตั้งแต่ทำงานได้เพียงปีเดียว ใช้บัตรเครดิตนำไปใช้จ่าย กินเที่ยวจนเต็มวงเงินภายในไม่ถึง 1 ปี ต้องจ่ายหนี้ขั้นต่ำจนหนี้พอกพูน สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสีย

          ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า หนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคลเกือบ 30% มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมสูงกว่าเงินเดือนหรือรายได้มากถึง 10-25 เท่า ทำให้แต่ละเดือนมีภาระจ่ายหนี้เกินครึ่งของรายได้ จนเงินไม่พอใช้ จึงไม่แปลกที่ครัวเรือนไทยกว่า 62% มีเงินออมไม่เพียงพอไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และการผ่อนชำระขั้นต่ำมายาวนาน ทำให้คนอายุเกิน 60 ปี ยังต้องมีภาระหนี้ต้องผ่อนชำระ เป็นหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 500,000 บาทต่อคน

          แน่นอนว่าปัจจัยทางรายได้ของคนไทยที่ไม่สูงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนวัยทำงานส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอ แต่หลายคนที่มีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน ก็ยังเผชิญปัญหาเงินไม่พอกิน พอใช้ พอเก็บ ซึ่งสรุปแล้วปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้น คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ขยันสร้างหนี้ เพียงเพราะต้องการสนองไลฟ์สไตล์ที่ดูดีโก้หรูของตัวเอง แต่สิ่งนี้หลายคนกลับเลือกที่จะไม่ยอมรับอีกด้วย

          พฤติกรรม "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" เน้นผ่อนทุกอย่างที่ขวางหน้า

          ไม่ใช่แค่หนี้เสียหรือ NPL ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องไม่หยุด แต่กลุ่มบุคคลที่กำลังมีโอกาสกลายเป็นบุคคนที่มีสิทธิ์เป็นหนี้เสียที่มียอดการผิดนัดชำระค่างวด 1-3 เดือน (SM) ก็เพิ่มเช่นกัน เกิดภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องหมุนเงินหนักบางเดือนจ่ายทันบางเดือนจ่ายไม่ทัน กลุ่มนี้ก็น่ากลัวไม่ต่างกัน

          อีกทั้งพฤติกรรมที่ทำให้การก่อ NPL ยังคงสูงคือ เทรนด์การซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ Buy Now Pay Later (BNPL) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางสภาพัฒน์ฯ กำลังได้จับตา เพราะนี้เป็นรูปแบบการสร้างหนี้ที่มาแรงในไทยจนผลักดันให้หนี้ครัวเรือไทยพุ่งทะลุ 16 ล้านล้านบาท

          พูดง่าย ๆ ว่าหนี้ที่ประชาชนก่อขึ้นรวมกันสูงจะเท่ากับ GDP ประเทศแล้ว ซึ่งนั่นมาพร้อมกับความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงเรื่อย ๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้ที่ตัวเองก่อขึ้นมาจนท่วมรายได้ หรือเกินกว่ารายได้ ซึ่งมาจากทั้งการจ่ายด้วยบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล เงินกู้ยืมจาก Bank และ Non-Bank และจบลงด้วยการจ่ายแต่ขั้นต่ำวนไปไม่จบไม่สิ้น

          ตามรายงาน Thailand Buy Now Pay Later Market Report 2022 คาดว่า BNPL ในปี 2565 จะอยู่ที่ราว 5.5-6.5 หมื่นล้านบาท โดยจากการเก็บข้อมูลคนอายุ 15-55 ปี พบว่า Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้บริการมากที่สุด และผู้ใช้งาน 1 ใน 3 มีเงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท

          ข้อมูลที่น่าสนใจจากรายงาน BNPL มากกว่า 50% ของ Gen Y มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท แต่ใช้บริการ BNPL มากที่สุดในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่มักซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับมากกว่าสิ่งอื่น

          3 ใน 5 ตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น ถ้ามีบริการ BNPL และส่วนใหญ่มักมีหนี้เดิมอยู่แล้ว และกลายเป็นกลุ่มที่ผันตัวไปผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดอีกด้วย ซึ่งของที่ซื้อส่วนใหญ่นั้นก็แทบไม่ใช่ของที่จำเป็นเลยด้วยซ้ำ แต่เน้นการซื้อของตอบแทนตัวเองหรือเป็นรางวัลให้ตนเอง...



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 06 ธันวาคม 2566
เวลา :: 05:11:51

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวเศรษฐกิจ ]