Latest News

ชาว มช. ร่วมใจแก้ไขปัญหาและดูแลตนเองจากภาวะหมอกควัน

           “...หมอกจางๆ และควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้...”   
           แม้ว่าฤดูหนาวจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่หมอกสีขาวยังคงปกคลุมทั่วบริเวณ ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในเดือนเมษายน ซึ่งหมอกที่ว่าไม่ใช่หมอกจากอากาศหนาวที่สดชื่น แต่เป็น “หมอกควัน” ปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ ซึ่งทุกฝ่ายต่างตระหนักและเร่งแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ระดมพลังทั้งองค์กร นำความรู้จากแต่ละส่วนงานเข้ามาช่วยหาทางเยียวยาปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดประชุม สัมมนา นำคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชุมชน โดยมีเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ นำอากาศสดใสกลับคืนสู่ทุกคน  
  
          เสียงของชาว มช. ต่อภาวะหมอกควัน  
 
          รองศาสตราจารย์ นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายบริการ พัฒนาสังคม ศิลปวัฒนธรรม และกิจการพิเศษ ปัญหาหมอกควันในปัจจุบันได้มีความเชื่อมโยงถึงปัญหาการทำลายป่าต้นน้ำและภาวะภัยแล้ง ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง นับเป็นปัญหาที่สำคัญและมีการตื่นตัวทั้งประเทศ สาเหตุหลักเกิดจากการกระบวนการปลูกข้าวโพด และการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด คือ หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็จะเผาทำลายต้นและซังข้าวโพด เพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มตามความต้องการของตลาด ก็มีการเผาป่าขยายพื้นที่ 
 มช. ได้เข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างต่อเนื่อง โดยประสบผลสำเร็จอย่างมากในการชี้ให้เห็นเป็นประเด็นปัญหา ซึ่งตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดสัมมนาเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาทำให้เกิดการตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยจะเห็นได้ว่าปีนี้การแก้ไขปัญหาหมอกควันทำได้อย่างถูกทิศถูกทางขึ้น

          จากการศึกษาและวิจัย มีผลค่อนข้างชัดเจนว่าปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นส่วนมากมาจากการเผาข้าวโพด คือ ต้น ซัง และแกนข้าวโพด ซึ่งแต่ละปีมีปริมาณหลายแสนไร่ โดยหลังจากที่ มช.ลงไปทำวิจัยจนทราบสาเหตุแล้ว ก็นำมาคิดว่าทำอย่างไรเกษตรกรจะสามารถมีรายได้ใช้จ่ายเหมือนเดิมแต่ลดการปลูกข้าวโพดลง โดยจากการพูดคุยกับเกษตรกร ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ตลอดจนผู้บริหารในจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือแล้วได้มีการช่วยกันพิจารณาว่าพืชที่เหมาะสมแก่การปลูกในพื้นที่สูงคืออะไร จะจัดโซนการปลูกอย่างไร ควรปลูกในระดับไหน การเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมคืออะไร เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยช่วยได้มาก  นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการวิจัยว่าไม่เผาได้อย่างไร โดยการเปลี่ยนซังข้าวโพด ต้นข้าวโพดเป็น biomass นำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ รวมถึงการวิจัยเรื่องการบริหารจัดการการเผาที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันได้ 
 
          ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.นิสิต วรรธนัจฉริยา การดูแลสุขภาพในภาวะหมอกควัน ปกติแล้วหมอกควันที่มีพิษมีภัยต่อสุขภาพ คือ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ที่ขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งสามารถเข้าไปในปอดได้ลึก และส่งผลต่อปอดในระยะยาว ในการดูแลสุขภาพขอให้ดูแลประเมินสถานะของหมอกควัน PM10 ติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ หากหมอกควันมีมากเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป จะเริ่มมีอาการมากขึ้น อันดับแรกคือแสบตา ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการใส่แว่นตา สวมหน้ากากอนามัย จะช่วยป้องกันหมอกหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เราป้องกัน ดูแลได้ดีที่สุด คือ การอยู่ในอาคาร ไม่ออกไปข้างนอกหรือสถานที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายตามสถานที่โล่งแจ้ง ถ้ามีอาการแสบตา คันตา คัดจมูกต่างๆ ควรใช้ยาหยอดตาหรือล้างหน้าบ่อยๆ แต่ถ้ามีอาการมากขึ้น หายใจติดขัด ควรมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล สำหรับการป้องกันนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการรักษา คือ พยายามหลีกเลี่ยงโดยการอยู่ในอาคาร สวมแว่นตา และหน้ากากอนามัย

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ การตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ตัวเลขที่ใช้อ้างอิงมีอยู่หลายสถานี แต่แหล่งข้อมูลสำคัญที่สุดเป็นของกรมควบคุมมลพิษ ที่ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศไว้ในหลายๆ จุดในจังหวัดเชียงใหม่ และทุกๆ พื้นที่ของประเทศไทย สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่จะใช้อ้างอิงกันบ่อยๆ เช่น โรงเรียนยุพราช ต.ศรีภูมิ และที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ต.ช้างเผือก ซึ่งทั้ง 2 แห่ง ใช้ค่าการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ได้มาจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ สามารถใช้ตัวเลขอ้างอิงได้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีเครื่องมือตรวจวัดที่สร้างขึ้นมาเอง และติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดที่เป็นสากลหลายรายการ แต่ส่วนใหญ่จะนำมาใช้สำหรับงานวิจัยเป็นหลัก

          สำหรับประชาชน ตลอดจนบุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลายท่านพอจะทราบแล้วว่า คุณภาพอากาศเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเรา ช่องทางที่ง่ายที่สุด สำหรับการติดตามคุณภาพอากาศตลอด คือสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ (http://air4thai.pcd.go.th/web/) ที่จะรายงานคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง และยังสามารถดาวน์โหลด Application Air4Thai ไว้ในมือถือได้ที่ (https://play.google.com/store/apps/details?id=com.kathistudio.air4thaimobile&hl=th) และในส่วนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีหลายๆ หน่วยงาน ที่รายงานข้อมูลเรื่องการตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ด้วย เช่น ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ จะรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้สามารถติดตามกันได้ตลอดเวลา ที่ WWW.ERDI.CMU.AC.TH

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อนุชาติ ธนัญชัย อดีตอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้มีกลุ่มนักศึกษา Silent Gen Y ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในกระบวนวิชา 061403 เน้นการการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม โดยเลือกประเด็นของฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาบนพื้นที่สูงไม่ว่าจะเป็นเผาซังข้าวโพด เผาไร่ เผาเพื่อบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำบนภูเขา มานำเสนอต่อสังคมและร่วมหาแนวทางแก้ไข ประเทศของเรามีปัญหาอีกมากมายที่จะต้องรอการปฏิรูป รอการปรับปรุง เราต้องใช้เวลา กลุ่มนักศึกษา Silent Gen Y อาจจะเป็น Generation ใหม่ที่เข้ามาช่วย ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และก้าวข้ามไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

          กลุ่ม silent Gen Y พวกเรากลุ่ม Silent Gen Y เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มาจากหลายคณะ เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาหมอกควันของเชียงใหม่ คือ เราอยากจะสื่อให้ทุกท่านรู้ว่า เด็กนักศึกษาอย่างเราไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาเหล่านี้ ทางกลุ่มอยากฝากถึงเพื่อนๆ ให้ดูแลสุขภาพด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งพวกเราได้รวมตัวกันทำกิจกรรมจิตอาสา โดยได้รวบรวมเงินเพื่อนำไปซื้อหน้ากากอนามัยแจกให้กับประชาชนและมีการแจกแผ่นพับให้ความรู้ให้กับทุกคน   
 สำหรับเป้าหมายหลักของกลุ่ม Silent Gen Y คือ จะรวมตัวกันเพื่อให้เป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ถึงรัฐบาล ในการตระหนักถึงปัญหาหมอกควัน โดยเข้าไปลงชื่อใน www.change.org  และขอเชิญชวนทุกคนร่วมลงชื่อในการแก้ปัญหานี้  
และขอเชิญติดตามข่าวสารของกลุ่มได้ที่ www.facebook.com และค้นหาคำว่า Silent Gen Y หยุดเผาเพื่อลมหายใจ

          คุณวชิรวิทย์ สมพงษ์ และคุณอติวิชญ์ ทรงสุข สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานการณ์ปัจจุบันปัญหาหมอกควันเป็นเรื่องที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ควรทราบ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเหมือนสื่อกลางระหว่างนักศึกษากับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  พวกเรามีความตระหนักในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงมีการจัดประชุมเรื่องนี้ขึ้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการสื่อสารปัญหาหมอกควันให้กับนักศึกษาได้ตระหนักและป้องกันได้อย่างถูกวิธี ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดโครงการส่งมอบหน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำมอบต่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในงาน CMU Music Festival เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของปัญหาหมอกควันให้กับนักศึกษา และถือเป็นการช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาได้รู้วิธีการรักษาสุขภาพจากหมอกควันได้อย่างถูกวิธียิ่งขึ้น นอกจากนี้ทางสโมสรนักศึกษาฯ จะมีรายงานระดับหมอกควันบน Facebook สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อที่จะให้นักศึกษาได้ทราบระดับหมอกควัน และขั้นตอนการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตน

          คุณภัทราภรณ์  ชวนชัย  และคุณรวินันทน์  คำหอม นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โครงการส่งต่อลมหายใจสู้ภัยฝุ่นควัน โครงการส่งต่อลมหายใจสู้ภัยฝุ่นควัน ของเรา  รณรงค์ให้เพื่อนๆ พ่อแม่พี่น้องทุกคน ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง   เพราะเราไม่สามารถหยุดเขาไม่ไห้เผาป่าได้  แต่เราเลือกที่จะป้องกันตัวเองได้  โดยโครงการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้คนที่รักตนเองมาบริจาคสมทบทุน  แล้วเราก็จะนำเงินที่ได้ ไปซื้อหน้ากากอนามัย  เพื่อส่งต่อลมหายใจไปให้พื้นที่ ๆ ประสบภัยหมอกควัน  ซึ่งหลักๆ เป็นพื้นที่อำเภออมก๋อย  จังหวัดเชียงใหม่  อำเภอแม่จัน  จังหวัดเชียงราย  โดยหน้ากากที่นำไปมอบนี้สามารถกรองขนาดของฝุ่นได้ถึง 0.3 ไมครอน  และสามารถซักด้วยน้ำยาอ่อนๆ ที่ไม่ใช่ผงซักฟอกแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะหากใช้ผงซักฟอกซัก  เมื่อใช้งานเราจะสูดมันเข้าไป อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

          คุณตรีทิพย์นภา จีมุก และ คุณจุฑามาส สุภาวะ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หมอกควันส่งผลกระทบมากมายต่อสุขภาพ   อยากจะให้ทุกคนเล็งเห็นถึงปัญหา ทั้งโทษของหมอกควันว่าเกิดจากสาเหตุอะไร สำหรับการแก้ไข ป้องกันปัญหา อย่างแรกคือต้องให้ความรู้  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียนในโรงเรียน  เราสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการเกิดหมอกควัน การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้แก่ชุมชน  ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ที่จะทำให้เห็นว่าปัญหาเกิดจากสาเหตุไหน ซึ่งจะทำให้ปัญหานี้ลดน้องลงหรือหมดไป เมื่อมีความรู้แล้วทุกคนจะได้ร่วมกันปลูกจิตสำนึกไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ในส่วนของการป้องกันหมอกควันนั้น  เมื่อปัญหานี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เราควรป้องกันตัวเองตัวเราและคนรอบข้าง โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งจะช่วยป้องกันหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้

          การผนึกกำลังของชาว มช. ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันของทุกฝ่าย ตลอดจนการรณรงค์ให้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ เป็นการเข้าร่วมรับผิดชอบต่อสังคมต่อสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้อากาศรอบๆ ตัว กลับมาบริสุทธิ์ สดชื่น สดใส และหายใจได้อย่างเต็มปอดอีกครั้ง ขอเชิญชาว มช. ร่วมติดตามการรายงานคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ที่ เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.erdi.cmu.ac.th  



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 25 เมษายน 2559
เวลา :: 05:20:31

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวทั่วไป ]