Latest News

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แนะวิธีการจัดการความเครียด

          แพทย์หญิงพอใจ มหาเทพ นายแพทย์ชำนาญการ จิตแพทย์โรงพยาบาลสารภี กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความแปรปรวน สังคมที่ต้องแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด พบว่าอาการเครียดเรื้อรัง เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า และนำมาสู่การฆ่าตัวตาย โดยความเครียดเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1. เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น มลภาวะทางเสียง มลภาวะทางอากาศ รายรับไม่พอกับรายจ่าย การมีสัมพันธภาพกับคนอื่นที่ไม่ราบรื่น มักมีข้อขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นเสมอ การที่รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น และ 2. เกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น ผู้ที่ชอบการแข่งขัน ชอบความท้าทาย เอาจริงเอาจังกับทุกอย่าง เข้มงวด ผู้ที่พยายามทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน ผู้ที่ใจร้อนและผู้ที่มีอารมณ์รุนแรง

          ผู้ที่อยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายจะเกิดความเตรียมพร้อมที่จะ "สู้" หรือ "หนี" โดยที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น การหายใจดีเร็วขึ้น แต่เป็นการหายใจตื้นๆ ม่านตาขยายเพื่อให้ได้รับแสงมากขึ้น มีการขับครีนาลีนและฮอร์โมนอื่น ๆ เข้าสู่กระแสเลือด เส้นเลือดบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว เหงื่อออกเพราะมีการเผาผลาญอาหารมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อหดเกร็งเพื่อเตรียมการเคลื่อนไหว เตรียมสู้หรือหนี อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย ได้แก่ อาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ อาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ นอนไม่หลับ หอบหืดเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ และส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ อารมณ์ไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย กลัวอย่างไร้เหตุผล นำไปสู่ความวิตกกังวล ซึมเศร้าหรือโรคประสาทบางอย่างได้

          วิธีการลดความเครียด สามารถทำได้โดยการใช้ยา เช่น ยาหม่อง ยาดม ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการหลังเกิดภาวะตึงเครียด ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ได้แก่ การสำรวจและเปลี่ยนแปลงนิสัย เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตัวเองและผู้อื่น การทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชอบ การฝึกผ่อนคลายโดยตรง เช่น การฝึกหายใจให้ถูกวิธี การฝึกสมาธิ ตลอดจนหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการ เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทที่ส่งเสริมทำให้เกิดความเครียด แพทย์หญิงพอใจ กล่าวเพิ่มเติม

          ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถสำรวจระดับความเครียดเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง พร้อมรับคำแนะนำในการลดความเครียดที่สามารถเลือกปฏิบัติเองได้ อีกทั้งยังสามารถบันทึกอารมณ์ความเครียด เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังปฏิบัติตามคำแนะนำ ผ่านแอพพลิเคชั่น “เครียด อยู่ได้” จัดทำโดยบริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ด้วยความร่วมมือกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน และการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการจัดการความรู้สุขภาพ ผ่านสื่อและเทคโนโลยีออนไลน์มูลนิธิหมอชาวบ้าน เพื่อเป็นการจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นเบื้องตนด้วยตัวเอง หากต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งใกล้บ้านท่าน หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิตและยาเสพติด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร. 053-211048 ต่อ 113

  

 

 

อัมพวัน จันทร์ทวี และชลนิชา จันทร์แป้น รายงาน

 



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 08 พฤษภาคม 2561
เวลา :: 04:35:54

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ สาระน่ารู้ ]