Latest News

มช. วิจัยสำเร็จ ผลิต “ถั่งเฉ้า” จากดักแด้ไหมแห่งแรกของไทย

 

 

             ทีมวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จผลิต ถั่งเฉ้าจากดักแด้ไหมได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วยความร่วมมือจากกรมหม่อนไหม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เพิ่มมูลค่าดักแด้ไหมไทย ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 60,000-100,000 บาท

 


            รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร กุลสาริน  และอาจารย์ ดร.วรรณพร ทะพิงค์แก ผู้จัดทำโครงการวิจัยผลิตถั่งเฉ้าจากดักแด้ไหม คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ถั่งเฉ้า
มีความหมายว่า หญ้าหนอน เป็นเชื้อรากินแมลงซึ่งมีฤทธิ์ทางยา ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ และเป็นอาหารเสริมสุขภาพ มีสรรพคุณทางด้านต่างๆ อาทิ รักษามะเร็ง บำรุงร่างกาย บำรุงไต หัวใจ ปอด หลอดลม กล่องเสียง เสริมอายุวัฒนะ ป้องกันเบาหวาน ความดัน เสริมสมรรถภาพทางเพศ และยังเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอางทำให้ผิวขาวใส ผิวหน้ากระชับตึง ด้วยสรรพคุณมากมายนี้ทำให้ถั่งเฉ้ามีความต้องการในท้องตลาดสูง และมีราคาถึงกิโลกรัมละ 60,000-100,000 บาท

            โครงการวิจัยผลิตถั่งเฉ้าจากดักแด้ไหมในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานงานวิจัยในโครงการศึกษาแนวทางการเพาะเลี้ยงเชื้อราIsariatenuipesบนดักแด้ไหม (Bombyxmori) เพื่อผลิตเป็นถั่งเฉ้าซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ร่วมกับกรมหม่อนไหม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยที่ผ่านมาโครงการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าของคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าใน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ถั่งเฉ้าสีทอง และถั่งเฉ้าหิมะซึ่งใช้ข้าวเป็นฐานในการเพาะเลี้ยงปรากฏว่าประสบความสำเร็จสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าให้เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี จึงได้ดำเนินการต่อยอดการวิจัยดังกล่าว ด้วยการร่วมกับกรมหม่อนไหมและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ดำเนินงานวิจัยในโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ดักแด้ไหมและสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหมเนื่องจากหากเพาะเลี้ยงดักแด้ไหมเพื่อขายตามปกติจะมีราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาทแต่หากนำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าจะได้ราคาที่สูงกว่าอีกหลายเท่านับเป็นการเพิ่มมูลค่าดักแด้ไหมไทย สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม เพิ่มความมั่นคงในอาชีพผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างยั่งยืน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมให้ดีขึ้น

            สำหรับแนวความคิดเรื่องการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าบนดักแด้ไหมเกิดจากสภาพตามธรรมชาติของถั่งเฉ้าที่เจริญเติบโตบนตัวหนอนหรือแมลงอยู่แล้วแต่การทดลองเพาะเลี้ยงที่ผ่านมาใช้วัสดุอื่นเป็นฐานในการเพาะเลี้ยง  จนกระทั่งเมื่อสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าหิมะและถั่งเฉ้าสีทองได้สำเร็จ จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพาะลี้ยงบนแมลงอีกทางหนึ่งและจากความร่วมมือกับกรมหม่อนไหมจึงได้เลือกใช้ดักแด้ไหมมาเป็นวัสดุในการเพาะเลี้ยงและเลือกเพาะเลี้ยงถั่งเช่าหิมะก่อนเป็นชนิดแรก

              การเพาะเชื้อราบนดักแด้ไหมมีขั้นตอนคือการนำดักแด้ไหมแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วฉีดสารละลายเข้าไปในตัวดักแด้หนอนไหม หรือจุ่มดักแด้ในสารละลายที่มีหัวเชื้อราถั่งเช่าหิมะหลังจากนั้นนำไปเก็บในห้องมืดที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 25-30 วันเพื่อให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตเต็มที่

            จากทดลองมาอย่างต่อเนื่องโดยได้รับการสนับสนุนดักแด้ไหมจากกรมหม่อนไหมพบว่าสามารถเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าหิมะบนดักแด้ไหมได้สำเร็จและให้ผลผลิตเป็นอย่างดีจึงเตรียมที่จะทดลองเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าสีทองบนดักแด้ไหมเป็นลำดับต่อไปเนื่องจากการเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าบนดักแด้ไหมทำให้ได้ถั่งเฉ้าที่มีสารสำคัญต่างๆ ในปริมาณมากกว่าถั่งเฉ้าที่ได้จากการใช้ข้าวเป็นฐานเพาะเลี้ยง

            นอกจากการทดลองเพาะเลี้ยงแล้วคณะผู้วิจัยยังได้ทดลองเกี่ยวกับการแปรรูปถั่งเฉ้าที่ได้ในลักษณะต่างๆ เช่นนำมาทำเป็นยา สกัดสารเคมีมาใช้ในด้านเวชสำอางหรือประยุกต์วิธีการบริโภคง่ายๆเช่น อบแห้งในรูปแบบของชา ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่นคณะแพทยศาสตร์หรือคณะเภสัชศาสตร์เพื่อศึกษาว่าจะสามารถนำถั่งเฉ้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยง รวมถึงสารต่างๆที่สกัดได้จากถั่งเฉ้ามาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง

            ราคาขายถั่งเฉ้าในท้องตลาดปัจจุบันหากเป็นถั่งเฉ้าสีทองราคากิโลกรัมละประมาณ 60,000-100,000 บาทส่วนถั่งเฉ้าหิมะราคากิโลกรัมละประมาณ 10,000 บาทซึ่งจากการวิจัยพบว่าการผลิตถั่งเฉ้าแห้ง 1 กิโลกรัมจะต้องใช้ถั่งเฉ้าสดประมาณ 6-10 กิโลกรัมโดยถั่งเฉ้าสีทองนิยมนำไปใช้ในการรักษาและบำรุงสุขภาพส่วนถั่งเฉ้าหิมะนิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง

            นับได้ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่แรกของประเทศไทย ที่สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อราบนดักแด้ไหมไทยได้ และปัจจุบันคณะผู้วิจัยกำลังต่อยอดโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดต่อไป

 



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 10 ธันวาคม 2556
เวลา :: 08:11:17

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวการศึกษา ]