หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา ตามกรอบแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะกลางของรัฐบาลและ กนย. พร้อมเตรียมการจัดทำแผนแม่บทช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในปี ๒๕๕๗
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.30 น. นายวิรุฬ พรรณเทวีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา ณ ห้องประชุมกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อวางแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ในปี พ.ศ.2557 ตามกรอบของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 และมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ที่เห็นชอบและอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ดังนี้
1. เห็นชอบโครงการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ที่ได้มีการปรับปรุงตามมติ กยน. เมื่อวันที่ 5 และวันที่ 9 กันยายน 2556 ในส่วนของการแก้ไขปัญหายางพาราระยะสั้นเร่งด่วน
2. อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นหรือการดำเนินงานตามแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นของโครงการ วงเงิน 21,248.95 บาท ที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไว้แล้ว จำนวน 5,628.01 บาท เพิ่มขึ้นจำนวน 15,620.95 บาท
3. มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมหารือเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางภายใต้ขอบเขตของกฏหมายต่อไป
4. เห็นชอบการเพิ่มเติมผู้แทนเกษตรกรชาวสวยยาง 1 คน เป็นกรรมการใน กนย. คือ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย
5. รับทราบผลการพิจารณาทบทวนการเก็บเงินสงเคราะห์ (เงิน Cess) เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556
โดยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางพาราเพื่อรับความช่วยเหลือตามโครงการฯ ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ปี 2556/2557 จำนวน 1,902 ราย 2,815 แปลง พื้นที่ปลูก 27,424,05 ไร่ ผ่านการตรวจสอบแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 จำนวน 249 ราย 393 แปลง พื้นที่ปลูก 3,115.91 ไร่ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอจะทำการออกใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเพื่อให้เกษตรกรนำไปขอขึ้นเงินกับ ธกส.ตามโครงการฯ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในปี 2557 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดแผนแม่บทในการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้ครอบคลุมในทุกด้าน โดยกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2556
นายเสริมศักดิ์ ศุขเกษม หัวหน้าแผนกปฏิบัติการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการตามมาตรการตามโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ในสองมาตรการ คือมาตรการระยะสั้นที่ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 ตุลาคม ที่มีเอกสารหรือหนังสือรับรองสิทธิ์ตามเงื่อนไขที่กำหนด ที่มีพื้นที่ยางเปิดกรีดไม่เกิน 25 ไร่ (เกษตรกรที่มีพื้นที่ยางเปิดกรีด 25 ไร่ขึ้นไป จะได้รับความช่วยเหลือไม่เกิน 25 ไร่) เป็นเงิน 2,520 บาท/ไร่ ตลอดฤดูการเปิดกรีด (ก.ย.56-มี.ค.57) และมาตรการระยะกลางคือการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อไปใช้ประโยชน์จากโรงงานแปรรูปยางที่ได้สร้างไว้แล้วหรือจัดสร้างโรงงานแปรรูปใหม่ ในวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีสถาบันเกษตรกรยื่นเสนอขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 5 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางแม่แตง สหกรณ์กองทุนสวนยางเวียงฝาง สหกรณ์กองทุนสวนยางชัยปราการ สหกรณ์กองทุนสวนยางชัยปราการ และสหกรณ์กองทุนสวนยางเมืองนะ ซึ่งขณะอยู่ระหว่างการพิจารณา