Latest News

ผู้อำนวยการแบงค์ชาติสำนักงานภาคเหนือแถลงข่าวเศรษฐกิจ ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

          ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 1 ปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนตามผลผลิตพืชหลักและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้ สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวเช่นเดิม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐลดลงจากรายจ่ายลงทุน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาน้ำมันขายปลีกอัตราการว่างงานปรับฤดูกาลทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อน รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือสามารถสรุปเป็นรายละเอียดได้ดังนี้

          รายได้เกษตรกร เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 ส่วนสำคัญจากผลผลิตอ้อยโรงงานและข้าวนาปรัง ตามสภาพอากาศเอื้ออำนวยในช่วงเพาะปลูก ด้านราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ราคามันสำปะหลังและข้าวเปลือกสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะความต้องการส่งออกต่างประเทศ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น ตามความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์ สำหรับราคาอ้อยและกระเทียมลดลง ตามปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น

          ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวจีนเพิ่มขึ้นมากในช่วงตรุษจีน และนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นเพิ่มขึ้นเช่นกัน เครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ และอัตราการเข้าพักแรม

          ผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 8.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำตาล การสีข้าว สินค้าเกษตรแปรรูป ที่มีวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามผลผลิตเกษตร และผลผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวตามความต้องการจากต่างประเทศ สำหรับหมวดเครื่องดื่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากผลผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เร่งผลิตก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในเดือนมกราคม

          การใช้จ่ายภาครัฐ รายจ่ายรวมลดลงร้อยละ 2.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนที่ลดลงร้อยละ 6.1 เป็นรายจ่ายของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด้านภาพรวมอัตราการเบิกจ่ายสะสมตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2561 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 56.0 สูงกว่าเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไว้ที่ร้อยละ 52.3 แต่ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายสะสมของช่วงเดียวกันปีก่อน

          การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว การลงทุนในภาคก่อสร้างยังอยู่ในระดับต่ำเช่นเดิม พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ลดลง และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี การลงทุนในภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเกษตรแปรรูปเพื่อส่งออกที่มีการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น

          การบริโภคภาคเอกชน ทรงตัว ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยความต้องการซื้อยานยนต์ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการส่งเสริมการขายของบริษัทผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย และการออกรถยนต์รุ่นใหม่ สำหรับยอดขายสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่รวมหมวดแอลกอฮอล์ค่อยๆ ปรับดีขึ้น การหดตัวน้อยลงโดยลำดับ

          การค้าผ่านด่านศุลกากรชายแดนในภาคเหนือ มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นน้ำตาลลดลงมากจากฐานสูงในปีก่อน เพราะมีการเร่งส่งออกน้ำตาลก่อนที่จีนจะใช้มาตรการลดการนำเข้าน้ำตาลผ่านช่องทางชายแดนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ด้านมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.9 ตามการนำเข้าไฟฟ้าจากลาว ผักและผลไม้จากจีน และเศษเหล็กจากเมียนมา

          เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามราคาน้ำมันขายปลีกเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาอาหารสดลดลงตามราคาผลไม้สดประกอบกับราคาข้าวและราคาเนื้อสัตว์ลดลงจากปริมาณผลผลิตข้าวและสุกรเข้าสู่ตลาดมากขึ้น  อัตราการว่างงานปรับฤดูกาลอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 เท่ากับไตรมาสก่อน

          ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 564,637 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 จากยอดสินเชื่อที่ลดลงของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ด้านยอดคงค้างเงินฝาก 674,024 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.8

  

  

  

 

 

 ชลนิชา จันทร์แป้น ภาพ,ข่าว

อัมพวัน จันทร์ทวี รายงาน

 



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 03 พฤษภาคม 2561
เวลา :: 10:21:45

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวเศรษฐกิจ ]