คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ Multicultural Education and Special Education เชิญผู้เชี่ยวชาญจากวงการศึกษาพิเศษและพหุวัฒนธรรมทั่วโลก ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาความรู้ด้านการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนด้อยโอกาสในสังคมพหุวัฒนธรรมและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษในประเทศไทยและนานาประเทศ ร่วมฉลอง 50 ปี มช. และ 45 ปี คณะศึกษาศาสตร์
รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนีกร ทองสุขดี รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานการจัดงานประชุมฯ แจ้งว่า ในวาระครบรอบปีที่ 50 ของการสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะศึกษาศาสตร์ครบรอบการสถาปนา 45 ปี คณะศึกษาศาสตร์ ได้ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา University of the Free State ประเทศแอฟริกาใต้ Yogyakarta State University ประเทศอินโดนีเซีย Shiga University ประเทศญี่ปุ่น Niagara University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ University Brunei Darussarum ประเทศบรูไน จัดการประชุมนานาชาติ "Multicultural Education and Special Education 2014” Cultural Sensitivity into Educational Practices Toward the 21st Century ระหว่างวันที่ 17-19 ธันวาคม 2557 ที่โรงแรม ดิ เอมเพรส จังหวัด เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำเสนอผลงานวิชาการในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพหุวัฒนธรรมและการศึกษาพิเศษ อันจะนำไปสู่การพัฒนาความรู้ด้านการจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนด้อยโอกาสในสังคมพหุวัฒนธรรมและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษในประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งมีนักการศึกษา นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาสำหรับเยาวชนกลุ่มดังกล่าว เข้าแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในงานกว่า 200 คน
ดร.ยุวดี วิริยางกูร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในงาน ประกอบด้วยปาฐกถาจากบุคคลสำคัญในวงการการศึกษาพิเศษทั่วโลก อาทิ Dr. Michael Wehmeyer ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาพิเศษจาก University of Kansas ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Dr. Andre Keet รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจาก University of the Free State ประเทศแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ ยังได้เรียนเชิญผู้มีบทบาทในระบบการศึกษาพิเศษของไทยเข้าร่วมงานอีกหลายท่าน ไม่เพียงแต่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับความรู้จากปรมาจารย์ด้านการศึกษาพหุวัฒนธรรมและการศึกษาพิเศษเท่านั้น การประชุมนานาชาติครั้งนี้ยังจะเปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักการศึกษาจากทั่วทุกมุมโลกได้นำเสนอผลงานของตน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย