Latest News

ผู้บริหาร มร.ชม. ร่วมเปิดศูนย์ปฏิบัติการนานาชาติตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นเอเชียประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง AiroTEC กับสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม NIER เกาหลี ลั่น พร้อมผนึกกำลังร่วมมือทุกด้านเพื่อการมีอากาศที่สะอาดให้กับประชาชน

          เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 อ.ดร.ถนัด บุญชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และ ประธานกรรมการศูนย์ AiroTEC เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการนานาชาติตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นเอเชียประเทศไทย (Thailand Ground Measurement Laboratory) ณ อาคาร 13 ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พื้นที่เวียงบัว เพื่อใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและลดต้นกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคพื้นเอเชีย NASA ASIA-AQ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีแห่งเอเชีย (AiroTEC) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี (NIER) โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้บริหาร และทีมงานศูนย์ AiroTEC ผู้แทน และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี (NIER) นักวิจัยจาก Korea University สาธารณรัฐเกาหลี นักวิจัยจาก Hankuk University of Foreign Studies สาธารณรัฐเกาหลี นักวิจัยจาก Konkuk University สาธารณรัฐเกาหลี วิศวกรจาก APM Engineering Co.,Ltd สาธารณรัฐเกาหลี ผู้แทนจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA ผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) NARIT ร่วมงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการมีอากาศที่สะอาดอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงต่อไป

    

          อ.ดร.ถนัด บุญชัย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสให้ร่วมโครงการ NASA ASIA-AQ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญและมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศทั่วทั้งทวีปเอเชียมาร่วมดำเนินงานสำหรับห้องปฏิบัติการงานวิจัยในครั้งนี้ได้มีการนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงมาติดตั้งจากหลายหน่วยงานจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยเป็นการติดตั้งชั่วคราวในช่วงเดือนมีนาคม 2567 เพื่อทำการเก็บข้อมูลค่าฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งมลสารต่าง ๆ จำนวนมาก เพื่อให้สามารถทราบค่ามลพิษทางอากาศได้ในเชิงลึก งานวิจัยในครั้งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการแล้วคาดว่าจะได้นำผลการวิเคราะห์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไปในแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการวิกฤติหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในระดับนานาชาติ และระดับชาติ ในครั้งนี้จะสามารถต่อยอด ขยายผลเพื่อประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติได้ต่อไป”
ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีแห่งเอเชีย (AiroTEC) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ขอเชิญประชาชน ร่วมติดตามการรายงานสถานการณ์ ค่าฝุ่น PM 2.5 ทาง https://www.facebook.com/airoteccmru

    

รายงานข่าว : นายทักษ์ดนัย เกษี
บรรณาธิการข่าว : ว่าที่ ร.ท.กาณฑ์ โสภโณดร
สำนักข่าวลานนาเพรส



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 12 มีนาคม 2567
เวลา :: 12:45:39

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวการศึกษา ]