Latest News

มร.ชม. ร่วมกับสำนักพัฒนาชุมชนเมืองเชียงใหม่ – ตัวแทนผู้ประกอบการ OTOP ขับเคลื่อนโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

          เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่สำหรับสถาบันอุดมศึกษา ณ ห้องประชุมเอื้องไอยเรศ ชั้น 5 อาคารคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พื้นที่เวียงบัว โดยมี รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่พร้อมด้วยผศ.ดร.ศุภฤกษ์ ธาราพิทักษ์วงศ์คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ผู้บริหาร คณาจารย์ประจำคณะวิทยากร ร่วมเป็นเกียรติในพิธี และร่วมต้อนรับ คุณยุพา จันดี พัฒนาการอำเภอเมืองเชียงใหม่ ผู้บริหารสำนักพัฒนาชุมชนเมืองเชียงใหม่ ประธานโอทอปอำเภอเมืองเชียงใหม่ และผู้ประกอบการโอทอปที่เข้าร่วมโครงการ 

           โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่สำหรับสถาบันอุดมศึกษา จัดขึ้นสืบเนื่องจาก ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ดำเนินโครงการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน (The Development of Creative Smart Community driven by Innovation and Lifelong Learning University) ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณร่วมกันเพื่อพลิกโฉมการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ร่วมกับ หน่วยงานส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจและผู้ประกอบการโอทอป โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

1) เพื่อพัฒนากำลังคนด้านเศรษฐกิจชุมชนอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการเป็นเมืองล้านนาสร้างสรรค์ (Creative LANNA) 

2) เพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สู่การเป็นล้านนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative LANNA) 

และ 3) เพื่อพัฒนาและเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) รองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC)

  

          การดำเนินโครงการเป็นการดำเนินงานภายใต้จุดเด่นและศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษา ด้วยการสนับสนุนทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น (Area-Based and Community) โดยมีบทบาทสำคัญกับท้องถิ่นในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สามารถตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นกับห่วงโซ่มูลค่าของภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคให้มีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น จำนวน 500 คน เกิดองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาในการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งที่ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน จำนวน 10 เรื่อง และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จำนวน 10 ต้นแบบ                   

          การจัดโครงการในครั้งนี้ จึงเป็นเวที ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาธุรกิจชุมชนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนการเป็นเมืองล้านนาสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแสดงความคิดเห็นถ่ายทอดปัญหาอุปสรรคและความต้องการพัฒนาของกลุ่มผู้ประกอบการ โดยมีพัฒนาการอำเภอเมืองเชียงใหม่ และตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน ร่วมระดมความเห็นและสรุปแนวทางการดำเนินการยกระดับชุมชนฉลาดรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกการขับเคลื่อนจากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนอันจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้จากสถาบันการศึกษาใช้ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป 

 



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 09 พฤษภาคม 2566
เวลา :: 07:01:34

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวการศึกษา ]