สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมประชุมหารือความร่วมมือทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ ณ ประเทศสิงคโปร์ เตรียมสร้างเครือข่าย ดาราศาสตร์อาเซียน หวังยกระดับศักยภาพดาราศาสตร์ให้ทัดเทียมนานาประเทศ
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ศาตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร สดร. พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวย สดร. เข้าร่วมประชุม Southeast Asia Galaxy Science Forum 2014 ณ Singapore Science Center การประชุมฯ ดังกล่าวจัดโดย International Lunar Observatory Association เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและวิจัย ระดมความคิดเห็นและหารือแนวทางการพัฒนาดาราศาสตร์ การจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ในอนาคตของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมประชุมจากสิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า “ในการประชุมนี้ สดร. ได้นำเสนอหัวข้อ Future Collaboration of NARIT/SEAAN & ILOA in Galaxy Science กล่าวถึงการพัฒนาดาราศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความจำเป็นและแรงบันดาลใจในการจัดตั้งเครือข่ายดาราศาสตร์อาเซียน (Southeast Asia Astronomy Network, SEAAN) รวมทั้งบทบาทสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของประเทศไทย ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการวิจัยการจัดการศึกษา และการบริการวิชาการดาราศาสตร์สู่ชุมชน สดร. หวังว่าการประชุมฯ ดังกล่าว จะก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางดาราศาสตร์ที่เข้มแข็ง ช่วยยกระดับศักยภาพดาราศาสตร์ในอาเซียนให้ก้าวหน้าและทัดเทียมนานาประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม Southeast Asia Galaxy Science Forum ครั้งต่อไปในปี 2558 อีกด้วย”
วันที่ 2 มีนาคม 2557 ได้เข้าพบหารือความร่วมมือทางดาราศาสตร์กับ Professor Charles Bailyn คณบดี Yale-NUS College ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร สดร. เปิดเผยว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ เนื่องจากประเทศไทยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งดำเนินการวิจัย สนับสนุนการจัดการศึกษา และบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์ มีกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรในประเทศไทย และกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล ณ สาธารณรัฐชิลี หากร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยระหว่างกัน นอกจากจะเป็นการสร้างเครือข่ายแล้วยังจะเกิดการพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์ในอนาคตอีกด้วย”
ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในอนาคตอาจมีความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยในรูปแบบต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนนักศึกษา ศึกษาดูงาน ฝึกงาน อบรม วิจัยระยะสั้นหรือระยะยาว สนับสนุนทุนการศึกษาระหว่างรัฐบาล เป็นที่ปรึกษาโครงงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมืองานวิจัยด้าน High Energy Astrophysics และได้เชิญ Professor Charles Bailyn มาเป็นวิทยากรบรรยายใน International School for Young Astronomers (ISYA) ซึ่งเป็นการอบรมนักศึกษาบัณฑิตศึกษาในประเทศอาเซียนที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกำหนดจัดร่วมกับสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล และ Yunnan Astronomical Observatory ในช่วงปลายปี 2557 ณ จังหวัดเชียงใหม่”