สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมวิชาการ สถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 15 ในหัวข้อ “ธรรมราชา”( Dharmaraja) ระหว่างวันที่ 8- 10 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยเชิญชวนผู้สนใจร่วมงานดังกล่าว
นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี 29 ประเทศในโลกที่มีระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในบริบทของสังคมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความมีคุณธรรม และหลักธรรมาภิบาลซึ่งตรงกับ คติ “ธรรมราชา” หรือพระมหากษัตริย์ผู้ทำให้ประชาชนสุขใจโดยธรรม ซึ่งเป็นแนวความคิดธรรมาภิบาลพุทธ ที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งปกครองชมพูทวีปในระหว่าง พ.ศ. 270 ถึง พ.ศ. 312 เป็นจักรพรรดิที่เป็นธรรมราชาพุทธพระองค์แรกที่เป็นต้นแบบในการนำคำว่าธรรมราชามาขยายความในเชิงการเมืองการปกครองโดยกำหนดให้การปกครองต้องอาศัย “ธรรมะ” หรือความดีใน 3 ระดับ คือ ประการแรกพระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองต้องประพฤติธรรม อาทิ ทศพิธราชธรรม เป็นต้น ประการที่สอง พระมหากษัตริย์ต้องชักนำให้ราษฎรประพฤติธรรม และประการที่สาม การเอาชนะประเทศต่างๆ ต้องชนะด้วย “ธรรม” หรือ “ธรรมวิชัย” ไม่ใช่ด้วยอาวุธ หรือ “ยุทธวิชัย” ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้รับคติพุทธเข้ามาศรัทธาและปฏิบัติ จึงได้รับคติธรรมราชาดังกล่าวมาด้วย และเป็นหลักธรรมาภิบาลของพระมหากษัตริย์ในการปกครองประเทศไทยมาตั้งแต่สุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์สุดท้าย และพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยพระองค์แรก ได้ทรงยึดมั่นในการปฏิบัติในแนวทางธรรมราชาตลอดรัชสมัย เช่น การทรงเลือกที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ และไม่ต่อสู้กับคณะราษฎร เพื่อมุ่งรักษาประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการสร้างสันติวิธีและธรรมาภิบาล ทรงริเริ่มส่งเสริมประชาธิปไตยโดยการวางรากฐาน การยกย่องกฎหมายเทศบาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญไว้เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงสองฉบับ ทรงวางรากฐานระบบงานบุคคลด้วยระบบคุณธรรม สำหรับการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินที่ทันสมัยด้วยการสร้างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มและสนับสนุนการศึกษาภาคประชาชนและทรงสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยโดยการให้ประชาชนได้รู้จักการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น คือเทศบาลก่อน แล้วจึงจะให้ทำการเลือกตั้งผู้แทนสู่รัฐสภาในระดับชาติ ทรงสนับสนุนความเสมอภาคของชาย-หญิง รวมถึงการวางรากฐานสถาบันครอบครัว ได้แก่ พระราชบัญญัติลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 2473 โดยทรงแสดงแบบอย่างปลูกฝังให้คนไทยมีสามี-ภรรยาเดียว
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในวโรกาสที่จะครบรอบ 120 ปี พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 สถาบันพระปกเกล้าจึงจะจัดประชุมวิชาการสถาบันครั้งที่ 15 ( KPI Congress XV ) ขึ้นในหัวข้อ “ธรรมราชา” เพื่อเฉลิมฉลองการเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็น “ธรรมราชา” ที่เปลี่ยนผ่านจาก “ธรรมราชา สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาสู่ “ระบอบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ”(Constitutional Monarchy) ในระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีสาธารณะในการวิเคราะห์ เสนอแนะ ผลงานในประเด็นเกี่ยวกับหลักธรรมราชา คุณธรรมสำหรับผู้นำ ผู้ปกครองและหลักธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนของสังคม แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ มุมมองเชิงเปรียบเทียบในประเด็นที่เกี่ยวข้องของนักวิชาการ ผู้ที่สนใจจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมไปถึงให้ข้อเสนอแนะ ร่วมกันกำหนด และส่งเสริมคุณธรรมสำหรับผู้ปกครองและผู้นำที่สอดคล้องกับบริบทของสังคม โดยภายในงานมีกิจกรรมหลักของการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่15 ประกอบด้วย การแสดงปาฐกถา จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ด้านธรรมราชา การสัมมนาทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดเห็นในประเด็นธรรมราชา คุณธรรมสำหรับผู้นำ ผู้ปกครองและหลักธรรมาภิบาลระหว่างภาครัฐและเอกชน การจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธรรมราชา คุณธรรมสำหรับผู้นำ ผู้ปกครอง และหลักธรรมาภิบาล และการประชุมกลุ่มย่อย โดยเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมเข้าร่วมโครงการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่15 ได้ตั้งแต่วันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร