สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติองค์การมหาชนสอดรอ. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเผย 9 พฤษภาคมนี้ดาวพระพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปีโอกาสดีเห็นได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารหลัก 4 ดวงได้ชัดเจน เชิญชวนประชาชนร่วมชมแบบเต็มตาพร้อมชมสุริยุปราคาดาวบนดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์ 4 จุดสังเกตการณ์หลักที่เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา และสงขลา พร้อมโรงเรียนเครือข่ายอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 เวลาประมาณ 7.10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ระยะทางประมาณ 658 ล้านกิโลเมตร หรือ 4.40 หน่วยดาราศาสตร์ วันดังกล่าวดาวพฤหัสบดีจะปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืนตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้า สว่างสุกใส สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) และหลังจากนี้เรายังสามารถชื่นชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีได้จนถึงเดือนกันยายน
อัมพวัน จันทร์ทวี และชลนิชา จันทร์แป้น รายงาน