เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีสุดปลื้มสามารถเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายากยิ่งของไทยที่จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์และถูกจัดอยู่ในบัญชีลำดับ 1 ในอนุสัญญา CITES “ลูกกวางผา” และ “ลูกเลียงผา” เตรียมนำออกสู่แสดงให้นักท่องเที่ยวได้ชม
ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดเผยว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้รับสมาชิกใหม่ “ลูกกวางผา” และ “ลูกเลียงผา” สัตว์ป่าสงวนของไทย ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายาก และจัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยเป็นการเพาะพันธุ์ด้วยวิธีการธรรมชาติในพื้นที่เฉพาะในส่วนแสดงที่สัตว์ทั้งสองชนิดนี้อาศัยอยู่ ซึ่งต้องอาศัยความเอาใจใส่และการดูแลจากผู้เลี้ยง รวมทั้งสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
สมาชิกใหม่ “ลูกกวางผา” จำนวน 1 ตัว ยังไม่ทราบเพศ เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 จาก“แม่แสงดาว” อายุ 3 ปี และ “พ่อศิลป์” พ่อพันธุ์ชั้นดีที่ให้กำเนิดลูกกวางผาที่แข็งแรงแล้วหลายคอก โดยลูกกวางผาตัวนี้ นับเป็นสมาชิกลูกกวางผาที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพาะพันธุ์ได้เองเป็นตัวที่ 20 โดยในปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีสมาชิกกวางผา ทั้งหมด 26 ตัว
กวางผา หรือ ม้าเทวดา จัดเป็น 1 ใน 15 ชนิดของสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยและอนุสัญญาไซเตส นับเป็นสัตว์ป่าที่หาดูได้ยาก โดยในธรรมชาติสามารถพบได้บริเวณเทือกเขาต้นน้ำปิง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและแม่ตื่น จังหวัดเชียงใหม่และตาก และเทือกเขาบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลา แม่แสะ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว
กวางผา มีนิสัยชอบออกหากินตามที่โล่งในตอนเย็นและตอนเช้ามืด หลับพักผ่อนตามพุ่มไม้และชะง่อนหินในเวลากลางคืน อาหาร ได้แก่ พืชที่ขึ้นตามสันเขาและหน้าผาหิน เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกลูกก่อ โดยปกติมักอาศัยรวมกันเป็นฝูง 4-12ตัว ผสมพันธุ์ราวเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ออกลูกครอกละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนาน 6 เดือน
ในปัจจุบันประชากรกวางผาได้ลดจำนวนลงไปมาก เนื่องจากสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยจำกัดเป็นหน้าผาสูงชันที่สัตว์อื่นไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ประกอบกับนิสัยที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง มีอาณาเขตครอบครองแน่นอน ทำให้ถูกพรานชาวเขาตามล่าได้ง่าย ขณะเดียวกัน ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่าน้ำมันกวางผามีสรรพคุณใช้เป็นยาสมานกระดูกเช่นเดียวกับน้ำมันเลียงผา ทำให้กวางผาถูกฆ่าตายเพื่อเอาไปทำน้ำมัน นับว่าสถานการณ์ความอยู่รอดของกวางผาไทยยังคงอยู่ในขั้นวิกฤต
สมาชิกใหม่อีกชนิดหนึ่ง “ลูกเลียงผา” จำนวน 2 ตัว ตัวแรกเกิดจากแม่ปีใหม่ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 เป็นเพศผู้ และตัวที่ 2 เกิดจากแม่ตองหก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 เป็นเพศเมีย โดยเกิดจากพ่อตัวเดียวกันคือ “พ่อตองอู” ซึ่งลูกเลียงผาที่เกิดใหม่นี้ นับเป็นลูกเลียงผาที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพาะพันธุ์ได้เองเป็นตัวที่ 5 และตัวที่ 6 ปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีสมาชิกเลียงผาทั้งหมดจำนวน 8 ตัว เป็นเพศผู้ 5 ตัว เพศเมีย 3 ตัว
เลียงผามีลักษณะคล้ายกับกวางผา แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขายาว ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี ลักษณะของกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกะโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุ, สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และชนิดพันธุ์ มีขนหยาบและไม่เป็น 2 ชั้นเหมือนกวางผา ใต้ตามีต่อมน้ำมันใช้สำหรับถูตามต้นไม้หรือโขดหินเพื่อประกาศอาณาเขต พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย จนถึงเอเชียตะวันออก โดยมักอยู่ตามหน้าผาหรือภูเขาสูง
ในปัจจุบันประชากรเลียงผามีจำนวนลดลงมาก เนื่องจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การระเบิดภูเขาเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก ก็นับเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรงเช่นกัน รวมทั้งการไล่ล่าเลียงผาตามความเชื่อว่าน้ำมันของเลียงผาสามารถรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บ จากการพลัดตกเขาหรือใช้สมานกระดูกที่หักได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ผู้ที่สนใจสามารถชมความน่ารักของสมาชิกใหม่ได้ทุกวัน ณ ส่วนแสดงซาวันนาซาฟารี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร 053-999000