รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงเตรียมพร้อมรับมือพายุ “เซินกา” บูรณาการทุกหน่วยงาน ยึดแผนที่ One Map บริหารจัดการน้ำ ด้านชลประทานเชียงใหม่ จัด จนท. ประจำจุดเสี่ยง เฝ้ารายงานสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดฝนตกต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ที่ป้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ แถลงข่าวสื่อมวลชน เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงใหม่ และมาตรการแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกสะสมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมรับมือพายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อจังหวัดเชียงใหม่และหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 2560 นี้
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า 2 เขื่อนหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก ยังสามารถรับพายุขนาดใหญ่ได้อีกถึง 2 ลูก แต่เป็นห่วงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ได้สั่งให้พร่องน้ำเตรียมรับน้ำฝนที่จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานชลประทานเชียงใหม่ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยงจุดละ 1 คน ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดฝนตกต่อเนื่อง เนื่องจากทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ดินอุ้มน้ำอิ่มตัวแล้ว หากมีฝนตกลงมามากๆ ดินอุ้มน้ำไม่ไหวกลายเป็นน้ำป่าไหลหลากดินสไลด์ดินโคลนถล่มฉับพลัน เกิดขึ้นได้ง่าย
“ขณะนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับชลประทานจังหวัด ได้จัดทบทวนหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม ทั้งจังหวัด จากเดิม 900 กว่าหมู่บ้าน ตอนนี้ที่เสี่ยงจริงๆ ไม่ถึง 900 หมู่บ้าน ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะได้แจ้งเตือนให้ทุกอำเภอเฝ้าระวังต่อไป”
ด้านนายเจนศักดิ์ กล่าวว่า ในการบริหารจัดการน้ำในเขตเมืองเชียงใหม่ ทุกส่วนราชการใช้แผนที่ One Map เพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ มาจาก 2 สาเหตุ คือ 1) น้ำปิงล้นฝั่ง เข้าท่วม 6 โซน แต่ละโซนได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน เพื่อเร่งสูบระบายน้ำ โดยได้วางเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว ในจุดสำคัญ 20 เครื่อง โดยเฉพาะหลังธนาคารกรุงไทย สาขามหิดล ต้องเร่งสูบน้ำลงคลองแม่ข่าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมย่านศรีปิงเมืองและกาดก้อม 2) น้ำจากเทือกเขาดอยสุเทพ-ปุยไหลลงช่างเคี่ยน - รินคำ และข่วงสิงห์ที่มีการขยายผิวจราจร ทำให้น้ำระบายไม่ทัน รวมถึงท่วมขังย่านศรีปิงเมือง และหน้าศูนย์วัฒนธรรม
“จากเดิมหากระดับน้ำในแม่น้ำปิง ที่เชิงสะพานนวรัตน์สูงถึง 3.70 เมตร น้ำจึงจะมีการแจ้งเตือนประชาชนว่าจะมีน้ำท่วมเขตเมืองเชียงใหม่ แต่จากการบริหารจัดการน้ำที่ประตูระบายน้ำป่าแดดร่วมด้วย และทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ขุดลอกทางระบายน้ำ วางกระสอบทราย ติดตั้งแบริเออร์คอนกรีตในจุดเสี่ยงต่าง สามารถป้องกันน้ำได้สูง ระดับน้ำเกิน 4 เมตร จึงจะแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ และข้อมูลจากเวปไซด์ของสำนักงานชลประทานเชียงใหม่ อย่าลงเชื่อภาพที่โพสต์และแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้