Latest News

ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่แนะเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองงดเผาเศษซากถั่วเหลือง สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าในการเพาะเห็ดและทำก้อนเชื้อเห็ดขายได้

          นายสุทัด ปินตาเสน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงระยะนี้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วจะมีเศษซากจำนวนมากจากการนวด แนะนำอย่าเผาเศษซากถั่วเหลืองเด็ดขาด ประกอบกับสถานการณ์ฝุ่นละอองหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่และในภาคเหนือกำลังอยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้นอย่ากำจัดด้วยวิธีเผา ให้นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำก้อนเชื้อเห็ดและเพาะเห็ดถั่วเหลืองหรือเห็ดโคนน้อยตามวิถีธรรมชาติได้ ถั่วเหลือง 1 ไร่ จะมีเศษซากถั่วเหลืองแห้งประมาณ 700 กิโลกรัม สามารถนำมาเพาะเห็ดโคนน้อยแบบธรรมชาติ โดยนำมากองรวมกันสูงประมาณ 60 เซนติเมตร กว้างยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยทางมะพร้าวประมาณ 15-20 วัน ก็สามารถเก็บเห็ดโคนน้อยจำหน่ายได้ จะมีรายได้ 2,000 บาทต่อกองซาก โดยเศษซากถั่วเหลือง 1 ไร่ จะเก็บเห็ดได้ประมาณ 15 กิโลกรัม ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติ

    

          ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า หากเกษตรกรมีความรู้ในการทำก้อนเชื้อเห็ดที่ปลูกในโรงเรือนก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น โดยนำซากเปลือกถั่วเหลืองใน 1 ไร่ มาผลิตหัวเชื้อเห็ดโคนได้  ประมาณ 2,800 ก้อนๆละ 250 กรัม และเติมเชื้อเห็ดบริสุทธิ์เข้าไป ใช้เวลาดำเนินการ 15 วัน สามารถจำหน่ายก้อนหัวเชื้อเห็ดได้ก้อนละ 15 บาท จะมีรายได้ 42,000 บาท  หรือจะนำไปเปิดดอกเห็ดเองได้ โดยนำหัวเชื้อเห็ดที่ผลิตได้มาผสมกับฟางข้าว และบ่มต่อไปอีก 5-7 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวเห็ดโคนน้อยได้ถึง 10 วัน ซึ่งข้อดีของการเพาะเห็ดดังกล่าว ช่วยให้เก็บดอกเห็ดได้นานกว่าการเพาะเห็ดตามธรรมชาติ ข้อแนะนำให้ทำโรงเรือนอย่างง่ายและชั้นวางก้อนเห็ด จะช่วยให้เก็บดอกเห็ดสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งก้อนเชื้อเห็ด 1 ก้อน ผลิตดอกเห็ดได้ 1 กก. ราคาจำหน่าย 100-150 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนก้อนเชื้อเห็ดที่เก็บดอกแล้วสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง หรือจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 3 บาท

  

          หากงดเผาเศษซากถั่วเหลือง และฟางข้าว โดยนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม จะสามารถสร้างรายได้ของพี่น้องเกษตรกรได้เป็นอย่างดี สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ นายสุทัด ปินตาเสน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 081 - 9504785 และคุณสุพรรณณี เป็งคำ เบอร์โทรศัพท์ 062 - 4463516

    



เขียนข่าวโดย :: Editor
วันที่ :: 06 เมษายน 2562
เวลา :: 12:05:22

ข่าวอื่นๆ ในหมวดนี้ [ ข่าวเกษตร ]